ดีเอสไอ-นิติวิทย์ฯ โต้อัยการ ปมคดีบิลลี่ แจงไมโทรคอนเดรียใช้ทั่วโลก ยันทำคดีมาตรฐาน FBI
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 27 ม.ค. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผอ.กองคดีปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พร้อมด้วย พ.ต.ท.เสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รองผอ.กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกดีเอสไอ พร้อมด้วยพ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และน.พ.วรวีร์ ไวยวุฒิ ผอ.กองสารพันธุกรรม ร่วมกันแถลงกรณีอัยการมีความเห็นไม่ฟ้องคดีฆาตกรรมบิลลี่ 7 ข้อหา
น.พ.วรวีร์ กล่าวว่า วิธีพิสูจน์หลักฐานด้วยการตรวจสอบไมโทรคอนเดรียดีเอ็นเอไม่ได้ใช้เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็ใช้วิธีนี้ โดยเป็นวิธีการที่ใช้พิสูจน์บุคคลสูญหาย กรณีที่โครงกระดูกมีความเสื่อมสภาพ ซึ่งมีหลายคดีที่ใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมในวัตถุเสื่อมสภาพและใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ไมโทรคอนเดรียจะเป็นการสืบสายพันธ์จากแม่สู่ลูก
กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
โดยสามารถติดตามได้ 2 รุ่น เมื่อถึงรุ่นที่ 3 ไมโทรคอนเดรียจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธุกรรม ซึ่งชิ้นส่วนกระดูกที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้รับจากดีเอสไอ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายบิลลี่ พบว่าไมโทรคอนเดรียตรงกันทุกประการ ทำให้เราตีกรอบว่ากระดูกนี้น่าจะมีการสืบสายโลหิตในไมโทรคอนเดรียเดียวกัน
เรายืนยันในเรื่องการสืบสายโลหิตหรือการมีแม่คนเดียวกันเท่านั้น ส่วนการยืนยันตัวบุคคลต้องใช้หลักฐานจากการสืบสวนสอบสวนถึงสายพันธุกรรมของนางโพเราะจี
“หลายคดีที่โครงกระดูกเสื่อมสภาพ จนไม่สามารถตรวจดีเอ็นเอปกติได้ จะใช้ไมโทรคอนเดรียเป็นตัวเชื่อมโยงและใช้การสืบสวนประกอบว่าใครบ้างที่อยู่ในสายโลหิตนี้แล้วหายตัวไปในช่วงเวลาใด จากนั้นจะนำมาตีกรอบว่าเป็นบุคคลนี้ที่หายตัวไป
ซึ่งมีหลายคดีที่ใช้ไมโทรคอนเดรียเป็นหลักฐานประกอบให้ศาลรับฟัง ย้ำอีกครั้งว่าไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทุกประเทศทั่วโลกใช้หลักฐานไมโทรคอนเดรียเพื่อยืนยันตัวบุคคล ร่วมกับหลักฐานอื่นประกอบด้วย”น.พ.วรวีร์ กล่าวอีก
ด้าน พ.ต.ท.เสฏฐ์สถิตย์ กล่าวว่า กระบวนการติดตามตัวนายบิลลี่ ดีเอสไอดูข้อมูลและพยานหลักฐาน ร่วมกับสภาพพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์ว่าพื้นที่ใดเป็นจุดผิดปกติ จนกระทั่งปี 2562 ดีเอสไอพบสถานที่ผิดปกติ คือบริเวณใต้สะพานแขวนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นบริเวณที่น้ำไม่เคยแห้งเหมาะสมที่กลุ่มคนร้ายจะนำของกลางไปซุกซ่อนไว้
ดีเอสไอจึงนำโดรนสำรวจใต้ ลงดำสำรวจร่วมกับนักประดาน้ำจนได้ชิ้นส่วนกระดูกและวัตถุพยานอื่นๆ ขึ้นมา ยืนยันว่าทุกขั้นตอนดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย
เมื่อถามว่า ผู้สืบสายโลหิตฝ่ายแม่ของนายบิลลี่มีกี่คน และมีผู้ใดเสียชีวิตไปแล้ว เพราะอัยการไม่เชื่อว่าเป็นกระโหลกศรีษะของนายบิลลี่ โดยอาจจะเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีสายโลหิตเดียวกัน พ.ต.ท.เชน กล่าวว่า ดีเอสไอสอบปากคำพยานไว้อย่างละเอียด ยืนยันว่าญาติพี่น้องร่วมมารดาของนายบิลลี่ไม่มีรายใดเสียชีวิต ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ส่วนญาติพี่น้องในรุ่นยายหรือแม่ของแม่บิลลี่ที่เสียชีวิตไปแล้วได้ประกอบพิธีทางศาสนาคือฝังตามธรรมชาติ มีแค่นายบิลลี่คนเดียวที่หายไปโดยไม่มีที่มาที่ไป
ยกตัวอย่างเช่น พี่น้อง 4 คน มีไมโทรคอนเดรียเดียวกัน แต่มีคนเดียวที่หายตัวไป เราไม่ได้ฟันธงว่ากระดูกเป็นนายบิลลี่ แต่ภาพรวมการสืบสวนบ่งชี้ว่าเป็นนายบิลลี่ หากถามว่ากระบวนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานมีความรัดกุมมากน้อยเพียงใด
ยืนยันว่าเราไม่ได้ทำสำนวนปกติ แต่ทำสำนวนเสนอศาลให้พิจารณาออกหมายจับ และยังดึงผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรรวมถึงอัยการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษ มาตรฐานไม่แตกต่างจากสำนักสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ
“การพิจารณาสำนวนเป็นเรื่องของมุมมอง นักศึกษาที่เคยให้การกลับไปกลับมานั้น ยืนยันว่าดีเอสไอไม่เคยใช้กำลังข่มขู่ เราสอบสวนตรงไปตรงมา พยานให้การอย่างมีวุฒิภาวะ เดิมพยานอาจจะยังเป็นเด็กไปฝึกงานจึงให้การไปในลักษณะหนึ่ง แต่ปัจจุบันเรียนจบทำงานแล้ว เป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะทราบว่าอะไรเป็นอะไร จึงพูดไปตามความเป็นจริง”พ.ต.ท.เชน กล่าว
เมื่อถามว่า หากผู้เสียหายอาจหมดหวัง และต้องการขอพยานหลักฐานไปฟ้องคดีอาญาเอง พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ขั้นตอนการสอบสวนและการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐยังไม่สิ้นสุดแม้ผู้เสียหายจะมีสิทธิฟ้องคดีอาญาเองได้ แต่เมื่อกระบวนการยังไม่สิ้นสุด จึงขอให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำงานก่อน
ทั้งนี้ คดีนี้มีการสอบปากคำพยานไปแล้ว 131 ปาก เบื้องต้นดีเอสไอมีเวลา 1 เดือนในการทำความเห็นแย้ง หากพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงมีจำนวนมากก็สามารถขอขยายเวลาออกไปได้อีก แต่คดีดังกล่าวดีเอสไอจะสอบสวนได้เท่าที่หลักฐานมีอยู่ในสำนวนเดิม ไม่สามารถสอบสวนเพิ่มเติมได้ เพราะอัยการไม่ได้สั่งให้สอบเพิ่ม แต่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเลย ทั้งนี้การมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องโดยไม่สั่งสอบเพิ่มเป็นดุลพินิจของอัยการ
แหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันนี้ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล รองอธิบดีดีเอสไอ ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนชุดเล็ก เพื่อสั่งการให้พ.ต.ท.เชน กาญจนาปัจจ์ ผอ.กองคดีปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีฆาตกรรมนายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ แกนนำกระเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เตรียมทำความเห็นแย้งส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดสำนวนคดีฆาตกรรมและความผิดเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันอื่นๆ รวม 8 ข้อหา
ภายหลังอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 มีความเห็นไม่ฟ้องคดีถึง 7 ข้อหา โดยมีความเห็นสั่งฟ้องเพียงข้อหาความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า ในคดีนี้หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำความเห็นสั่งคดี ที่ผ่านมาผลการตรวจสอบชิ้นส่วนกะโหลกศรีษะที่งมได้จากร่องน้ำลึก ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับการรับรองจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วว่า เป็นของนายพอละจี เพราะญาติพี่น้องร่วมสายมารดาเดียวกันยังไม่มีใครเสียชีวิตเลย
อีกทั้งผู้ที่สูญเสียชิ้นส่วนกะโหลกศรีษะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ต้องเสียชีวิตแล้วเท่านั้น เป็นเหตุให้คณะกรรมการพิจารณาจ่ายเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนแก่จำเลยในคดีอาญา กรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรีภาพอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาจากเหตุฆาตกรรมให้กับนางโพเราะจี รักจงเจริญ และนางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือมึนอ แม่และภรรยาของนายบิลลี่ เป็นเงินจำนวน 1.4 แสนบาท
“สำนวนคดีฆาตกรรมนายพอละจีมีหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกับพยานแวดล้อมอื่นๆ ที่ตรวจค้นได้จากภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุจับกุมตัวนายบิลลี่ในข้อหาลักของป่า หากอัยการเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอที่จะสั่งฟ้องในคดีฆ่า เพราะไม่มีผู้เห็นเหตุการณ์หรือประจักษ์พยานบรรยายวิธีฆ่า แต่ก็ควรฟ้องในข้อหาหน่วยเหนี่ยวกักขัง เพื่อให้มีการนำหลักฐานไปพิสูจน์ในชั้นศาล” แหล่งข่าวกล่าว
2020-01-27 12:06:00Z
https://news.google.com/__i/rss/rd/articles/CBMiNGh0dHBzOi8vd3d3LmtoYW9zb2QuY28udGgvYnJlYWtpbmctbmV3cy9uZXdzXzM0NzI0NzbSAQA?oc=5
0 Comments:
Post a Comment