วันนี้ (29 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำเลขที่ 2040/2547 พนักงานอัยการเกาะสมุย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเวพิว หรือวิน และนายซอริน หรือซอ อายุ 22 ปี ชาวเมียนมา เชื้อสายยะไข่
ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม นายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ อายุ 24 ปี และ น.ส.ฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ อายุ 24 ปี นักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557 ที่บริเวณโขดหินริมชายหาดด้านปลายแหลม จปร. หาดทรายรี ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี จำเลยทั้ง 2 คน ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษเสียชีวิต ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยปิดบังการกระทำความผิดที่โหดร้าย ร่วมกันกระทำชำเราผู้อื่น ร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน และเป็นบุคคลต่างด้าวโดยหลบหนีเข้าเมือง
ต่อมาวันที่ 24 ธ.ค. 2558 ศาลจังหวัดเกาะสมุย อ่านคำพิพากษา จำเลยทั้ง 2 มีความผิดตามฟ้องให้ลงโทษด้วยการประหารชีวิต จำเลยอุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดเกาะสมุย อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง
โดยในวันนี้จำเลยทั้งสองถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำกลางบางขวางโดยมีล่ามของจำเลยเดินทางมาร่วมรับฟังคำพิพากษา ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า คดีนี้มีพยานหลักฐาน รวมทั้งผลพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ การตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ตรงกับจำเลย ขณะที่คดีเกี่ยวกับการกระทำต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศ ซึ่งมีการตั้งคณะพนักงานสอบสวนเฉพาะกิจขึ้นมาโดยมีนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ควบคุมใกล้ชิด ในการตรวจเก็บสถานที่เกิดเหตุและพยานหลักฐานเพื่อจะติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้โดยเร็วเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของประเทศคืนมา
โดยมีการตรวจเก็บดีเอ็นเอทั้งคนไทยและคนหลากหลายชาติที่อาจจะเกี่ยวข้องจำนวนมาก และมีการใส่ถุงมือป้องกันการปนเปื้อน ใช้น้ำยาตรวจที่มีคุณภาพ เครื่องตรวจอัตโนมัติมีมาตรฐานในการตรวจพิสูจน์ เพื่อให้เกิดความรอบคอบในการรวบรวมพยานหลักฐาน และพิจารณาดูประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ทีละประเด็น โดยตัดผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปทีละคนทีละประเด็น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงจำเลย
ซึ่งครั้งแรกจำเลยก็เป็น 1 ในนั้นที่ต้องสงสัย แต่เมื่อยังไม่ชัดเจนจึงยังไม่ถูกดำเนินคดี กระทั่งตรวจดีเอ็นเอจากเยื่อบุกระพุ้งแก้มจำเลย ตรงกับการตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเป็นพยานหลักฐานทางชีววิทยา ซึ่งมีการจัดเก็บและตรวจพยานวัตถุทุกชิ้นอย่างละเอียด มีการป้องกันการปนเปื้อน และส่งไปตรวจสอบยังหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานที่น่าเชื่อถือของโรงพยาบาลตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเครื่องมือที่ใช้ตรวจพยานหลักฐานทางชีววิทยาเป็นเครื่องมือที่ได้คุณภาพ การตรวจสอบจึงมีความชัดเจนน่าเชื่อถือและมีความละเอียดในเรื่องของห้วงเวลา
ดังนั้น จึงไม่เชื่อว่าตำรวจจะสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย เพราะในการสอบสวนต้องใช้เวลา บุคลากร รวมทั้งงบประมาณจำนวนมาก หากจะสร้างพยานหลักฐานคงไม่ต้องให้สิ้นเปลืองทั้งบุคลากรและงบประมาณ พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น ศาลพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 8 ประหารชีวิตสถานเดียว
2019-08-29 06:51:00Z
https://www.sanook.com/news/7880466/
0 Comments:
Post a Comment