
เริ่มภารกิจกู้ซาก ”ช้างป่า 11 ตัว” ทีมกู้ภัย อช.เขาใหญ่ พร้อมกู้ชีพ สัตวแพทย์ นำอุปกรณ์ล่องเรือจากเขื่อนขุนด่านฯ ไปปลายน้ำตกเหวนรก เป้าหมายแรกซากช้างป่าตัวที่ 10-11 เน้นเจ้าหน้าที่ต้องปลอดภัย
เช้าวันที่ 9 ต.ค. ที่หน่วยพิทักษ์เขาใหญ่ ขญ 21 (เขื่อนขุนด่านปราการชล) มีการปล่อยแถวเจ้าหน้าที่กู้ภัยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติแห่งประเทศไทย กู้ชีพ อบต.หินตั้ง และเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆ ลงเรือพร้อมอุปกรณ์กู้ซากช้างไปยังพื้นที่คลองต้นไทร ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งห่างออกไปมีซากช้างตัวที่ 10 และ 11 อยู่บริเวณชั้น 5 ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำที่ต้องเดินเท้าเข้าไประยะทางประมาณ 2.8 กิโลเมตร ขณะที่เส้นทางเดินมีลำน้ำ โขดหิน หน้าผา ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก

ขณะที่ นายวิชัย พรลีแสงสุวรรณ์ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 พร้อมสัตวแพทย์ประจำอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทีมกู้ภัยอุทยาน และ สมาคมตอบโต้ภัยพิบัติแห่งประเทศไทย ใช้โดรนบินสำรวจลำน้ำเพื่อดูสภาพลำน้ำและวางแผนในการดำเนินการเก็บกู้ซากช้าง พบว่าบางจุดเข้าไม่ถึง พร้อมสำรวจพื้นที่เพื่อทำลานจอดเฮลิคอปเตอร์ หากหาจุดได้ก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปทำลานจอดเพื่อสะดวกในการทำลายซากช้างป่า ทั้งนี้การทำภารกิจนี้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ หากมีความเสี่ยงและอันตรายจะยกเลิกภารกิจทันที มีการดูแลด้านความปลอดภัยพร้อมให้การยช่วยเหลือ โดยมีเรือเร็วคอยรับส่ง รถพยาบาลเตรียมพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจ
สำหรับที่เข้าทำลายซากช้างป่า มีสัตวแพทย์หญิงชนันญา กาญจนสาขา สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมชุดกู้ชีพอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวม 30 คน เดินเท้าเข้าไปทำลายซากช้างป่าตัวที่ 10 และ 11 ที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก
นายวิชัย พรลีแสงสุวรรณ์ ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 กล่าวว่า ภารกิจครั้งนี้จะเป็นการกู้ซากช้างป่า โดยผู้บังคับบัญชาระดับสูงได้กำชับให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ หากมีภาวะเสี่ยงไม่ว่าจะระดับไหนก็ให้ยกเลิกภารกิจทันที โดยจะมีการวางตาข่ายเพิ่ม และอีกชุดจำนวน 30 นาย เดินเท้าเข้าไปให้ถึงพื้นที่ให้ใกล้ที่สุด ขณะที่เส้นทางจากภาพถ่ายโดรนพบว่าเส้นทางค่อนข้างมีอุปสรรค กันดาร มีความเสี่ยง ซึ่งต้องให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานเป็นผู้ตัดสิน พร้อมมีโดรนคอยบินติดตามเจ้าหน้าที่ โดยตนจะคอยมอนิเตอร์ที่หน้าจออยู่ตลอด หากพบว่ามีภาวะเสี่ยงก็จะสั่งยุติภทันที

“วันนี้อาจจะยังไม่สามารถทำลาน ฮ.ได้ หากภารกิจวันนี้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าถึงซากช้างได้ ก็จะนำภาพวิดีโอที่โดรนบินถ่ายพื้นที่ให้กับผู้บังคับบัญชาของกรม ประสานสำนักการบินของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าสามารถทำลาน ฮ.ได้หรือไม่ หรือจะใช้วิธีการใช้ ฮ.มาดรอปโรยกำลังพลลงยังพื้นที่เป้าหมาย โดยชุดเจ้าหน้าที่ที่เข้าพื้นที่ 30 นายนั้น ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่จากสมาคมตอบโต้ภัยพิบัติ ฮุก 31 เจ้าหน้าที่ศูนย์กู้ภัยอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมทั้งสัตวแพทย์”.
อ่านเพิ่มเติม...
2019-10-09 03:31:00Z
https://www.thairath.co.th/news/local/central/1678568
0 Comments:
Post a Comment