(แฟ้มภาพ)
นายกฯ ขออย่าตื่นตระหนก สหรัฐฯ ตัด GSP ย้ำ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเจรจามาตลอด ชี้ ทุกประเทศมีกฎหมายของตัวเอง วอนอย่าโยงการเมือง หวั่นกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
วันที่ 28 ต.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP หรือ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป ว่า เป็นเรื่องของกฎหมายแต่ละประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานกำกับดูแลเช่นเดียวกับประเทศ จึงไม่อยากให้ทุกคนไปคาดเดาว่าตัดสิทธิเพราะอะไร รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่ามีปัญหา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเจราจาต่อรองมาตลอด ที่สำคัญ เจรจาอย่างเดียวไม่ได้ต้องแก้ปัญหาภายในประเทศด้วย ทั้งเรื่องแรงงานและอื่นๆ ว่าสามารถทำได้หรือไม่ บางอย่างต้องดูปัจจัยภายในของไทยด้วย แต่ยืนยันว่าพยายามเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด วันนี้ยังคาดเดาไม่ได้เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่คาดเดาไทยไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับกฎหมาย อย่าตื่นตระหนกให้ข่าวว่าร้ายกันไปมา เพราะไม่เกิดประโยชน์
ทั้งนี้ เท่าที่กระทรวงพาณิชย์ชี้แจงครบถ้วนแล้วว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ระยะเวลาที่ทำมามีปัญหามาตลอด โดยเฉพาะปัญหากฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายในประเทศ หากทำตามสหรัฐฯ ต้องดูว่าจะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ดังนั้นต้องดูทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ จากการประเมินตัวเลขถือว่าไม่มาก เพราะสหรัฐฯ ให้สิทธิประโยชน์ 500 กว่ารายการ แต่ไทยใช้เพียง 300 กว่ารายการเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลไทยตื่นตัวอยู่แล้ว ภาคเอกจึงต้องตื่นด้วย โดยพัฒนาสินค้า ดูแลแรงงาน ขณะที่รัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย ทุกคนต้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากต่อว่ากันไปมาไม่เกิดประโยชน์
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำว่า ที่ผ่านมาได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เจรจามาโดยตลอด ทั้งในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ และทูตพาณิชย์ แต่ปัญหาอยู่ที่สหรัฐฯ จะยินยอมหรือไม่ มีเวลา 6 เดือนก่อนมีผลบังคับใช้ ก็ต้องการวิธีการพูดคุยต่อไป ไม่ได้คือไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายของสหรัฐฯ กฎหมายใครก็ของประเทศนั้น ขอว่าอย่าให้เป็นปัญหาทางการเมืองและพูดให้เลวร้ายกว่าเดิม เพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มี อีกทั้ง สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ดังนั้น ขอให้หยุดโจมตีว่าร้ายไปมา เพราะไทยต้องค้าขายกับสหรัฐฯ ต่อไป.
อ่านเพิ่มเติม...
2019-10-28 06:22:00Z
https://www.thairath.co.th/news/politic/1691720
0 Comments:
Post a Comment