ไม่ใช่ดราม่าครั้งแรกที่เกิดในสังคมไทย เมื่อภาพวาด ”พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ของนักศึกษาสาวมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ถูกคนบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์เป็นการลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนา จนเจ้าของผลงานต้องออกมาขอโทษในความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะต้องการสื่อให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่ เหมือนอุลตร้าแมน สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน ช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุขได้
ขณะที่คนอีกกลุ่มกลับมองเป็นความสร้างสรรค์ในแง่ศิลปะ เริ่มจาก อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ได้ออกมาปกป้องให้กำลังใจนักศึกษาสาว ให้สร้างสรรค์งานดีๆ ต่อไป การไปมองว่าลบหลู่ศาสนา จึงเป็นเรื่องบ้าบอคอแตก เช่นเดียวกับ อ.สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม มองว่า เพียงแค่นี้รับไม่ได้ ก็ไม่ต้องไปไหนในสากลโลกนี้แล้ว อยู่แต่ในวัดต่อไป
รวมถึงแวดวงพระสงฆ์ พระมหาไพรวัลย์ วรวัณโณ พระวัดสร้อยทอง ระบุว่า การนำตัวนักศึกษาเจ้าของผลงานไปกราบขอขมาผ่านพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเข้าข่ายบังคับใช้อำนาจกับเด็กที่เป็นเจ้าของผลงาน ซึ่งมีเจตนาบริสุทธิ์ในการแสดงมุมมองต่อพระพุทธเจ้าเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ และในงานศิลปะก็ไม่ใช่เรื่องผิด ทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ จึงอยากให้มองและตีความสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในภาพวาดมากกว่าของนักศึกษาคนนี้มากกว่า
“ในอดีตพระพุทธรูปไม่ใช่รูปเคารพของคนไทย เพราะคนไทยกราบไหว้ ต้นโพธิ์ และรอยพระพุทธบาทมาก่อน และพระพุทธรูปก็มีหลายปาง อย่าง พระเศรษฐีนวโกฏิ มี 9 เศียร หรือ พระพุทธรูปปางทรงกษัตริย์มีการสวมชุด สวมชฎา หรือแม้แต่พระปูนปั้นของวัดตะคร้อ จ.นครสวรรค์ ที่มีรูปร่างประหลาด เรายังกราบไหว้และสักการะ การวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของนักศึกษาคนนี้ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนได้ว่า ชาวพุทธในไทยส่วนหนึ่งยังมีมุมมองที่ไม่เข้าใจแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”

ในแง่ของนักศาสนาวิทยา “ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์” กล่าวกับ ”ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” โดยมองอย่างเป็นกลางจากพื้นฐาน 2 ข้อ 1.เป็นการลบหลู่หรือไม่ และ 2.ต่อให้ลบหลู่ มีความผิดหรือไม่ ซึ่งการลบหลู่หรือไม่นั้น เป็นปัญหายุ่งยากมาก จากการตีความโดยศิลปินผู้วาด และการตีความโดยบรรดาคนที่เห็น บางคนมีความคิดว่าเป็นการหมิ่นและลบหลู่ บางคนไม่คิดจากการมองรูปลักษณ์ในการนำเสนอว่ามีเจตนาอะไร และเมื่อเจ้าของผลงานออกมาชี้แจงจะมีใครเชื่อหรือไม่ว่าไม่ลบหลู่ แต่วิธีนำเสนอผลงานอาจแตกต่างจากจารีต
“ใครจะนำเสนอผลงานพระพุทธรูป จะต้องเป็นไปตามจารีตแนวนี้เท่านั้น หากแตกต่างก็ถือว่าผิด แต่ในแง่ศิลปะมองว่าพระเป็นซุปเปอร์ฮีโร่ ในแนวคิดของเขา แล้วแต่คนฟังจะเชื่อหรือไม่เชื่อ บางคนอาจมองเป็นการแก้ตัว มันขึ้นอยู่กับเราว่าตีความอย่างไร ผิดไปจากหลักศาสนา หรือผิดในเรื่องรูปแบบตามที่คนไทยยึดถือ มองว่าลบหลู่ ซึ่งตรงข้ามกับชาวต่างชาติ อย่างเช่นการยืนค้ำหัวผู้ใหญ่ คนไทยรับไม่ได้ แต่ต่างชาติไม่ถือ หรือคนไทยมองว่าผู้หญิงด้อยกว่า ไม่ควรมีหน้าที่การงานที่สูง แต่คนในอารยธรรมที่ไกลกว่า กลับไม่มองเช่นนั้น หรืออย่างญี่ปุ่น นับถือศาสนาพุทธเช่นกัน ไม่ถือว่าเป็นการลบหลู่ ที่ผ่านมามีการนำเสนอผลงานพุทธศาสนาหลากหลายก้าวไกลในแวดวงศิลปะ”
อีกกรณีหากเป็นการลบหลู่ จะมีความผิดหรือไม่นั้น มองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาและสามารถแสดงความคิดเห็นแสดงออกได้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งในแง่ของกฎหมายไม่มีแง่ใดผิดกฎหมาย หรือสมมติต่อให้มีการลบหลู่ หรือศิลปินบอกจากใจว่าลบหลู่เป็นสิ่งผิด ก็ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้นหลักการของศาสนวิทยา หากไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์จะอันตรายมาก จะทำให้ศาสนาครอบงำสังคมแบบผิดๆ หากไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือมีสิทธิเสรีภาพอย่างเสรีได้ สุดท้ายสังคมจะถูกครอบงำและถูกทำร้ายจากภัยศาสนา ซึ่งที่ผ่านมาสังคมโดนมาตลอด
“สังคมจำเป็นต้องยอมรับฟังกันและกันในเรื่องศาสนาได้แล้ว ควรให้เสรีภาพในการวิจารณ์ มองว่าเคสพระพุทธรูปอุลตร้าแมน จะไม่ใช่เคสสุดท้าย จะมีแบบนี้เกิดขึ้นอีก ถึงเวลาต้องผลักดันในการแสดงสิทธิเสรีภาพของศาสนาอย่างเต็มที่ เหมือนๆ อารยประเทศอื่นๆ ไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตราย เพราะศาสนาเป็นเรื่องศรัทธา ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ไม่สามารถอ้างสิทธิคนในสังคม แต่ต้องทำตามฉันได้เท่านั้น ทั้งๆ ที่ศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล หรือเอามาตราเป็นกฎหมายมาบังคับผู้คน”

สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยต้องยอมรับว่าคนรุ่นเดิมอายุ 40 ปีขึ้นไป ถูกปลูกฝังเรื่องศาสนามานาน จะต้องพุทธศาสนาแบบเถรวาทเท่านั้น ซึ่งแตกออกมาเป็นนิกายย่อยๆ หรือเป็นสิ่งที่ปลูกฝังในท้องถิ่นเท่านั้น จะเป็นแบบอื่นไม่ได้ หากแตกต่างไปกว่านั้นถือว่าผิด ยกเว้นคนรุ่นใหม่ ปัจจุบันเปิดกว้างในการแสดงออก อาจมองว่าพระพุทธรูปอุลตร้าแมนเป็นความคิดสร้างสรรค์ ไม่ใช่การลบหลู่อย่างที่หลายคนมองก็ได้.
2019-09-09 09:19:00Z
https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/1656701
0 Comments:
Post a Comment